วันศุกร์ที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2557

Recovery Drawdown: การ turnaround รอดจากขาดทุนมาทำกำไร

การเทรด จะมีจำนวนครั้งที่กำไรและขาดทุนเสมอ การเทรด จะหลีกเลี่ยงความไม่แม่นยำของวิธีที่ใช้ไม่ได้ ไม่ว่าอย่างไรก็จะมีครั้งที่เทรดแล้วผิดทางสร้างการขาดทุนได้ และการขาดทุนจะเกิดขึ้นได้เสมอ ตราบเท่าที่ยังมีการเทรดอยู่ ไม่ว่าจะการขาดทุนนั้นจะมีขนาดเล็กน้อยหรือขนาดใหญ่ จำนวนครั้งจะมากหรือน้อย การขาดทุนที่เกิดขึ้นนั้นจะสร้างสิ่งที่เรียกว่า Drawdown ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ไม่ดีหรือย่ำแย่ ทำให้ Equity หรือสินทรัพย์รวมลดขนาดลงได้ ถ้าควบคุมหรือแก้ปัญหาสถานการณ์ Drawdown นี้ได้ไม่ดีซึ่งมักจะเกิดขึ้นกับมือใหม่ อาจสร้างความเสียหายร้ายแรงจนต้องหยุด เทรด เพราะเงินทุนที่เตรียมไว้หมดลง ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ง่ายมากสำหรับผู้ที่ไม่ได้เตรียมตัวกับสถานการณ์วิกฤติเช่นนี้ ไม่ว่าจะมีจำนวน Position มากหลายสิบสัญญาหรือมีแค่ 1 สัญญา

Drawdown ของระบบจะสามารถวัดได้จากความลึกของ Equity ที่ลดลง วัดจาก Peak Equity ช่วงที่ Equity มีค่ามากที่สุด วัดลงไปหา Valley Equity ช่วงที่ Equity ลดลงมากที่สุด ถ้านำ Equity มา plot กราฟช่วง Peak จะลักษณะเหมือนยอดเขา(Peak) Valley จะเป็นหุบเขาลึกลงไป
Drawdown จะเกิดจากการขาดทุนเท่านั้น ที่ไหนมีการขาดทุนที่นั่นจะมี Drawdown โดยที่ Drawdown ขนาดจะใหญ่หรือเล็ก ขึ้นอยู่กับจำนวนขาดทุนและขนาดขาดทุน ขนาดขาดทุนรวมที่เกิดขึ้นจะเป็นขนาด Drawdown ในช่วง Equity ไม่สามารถสร้างระดับสูงใหม่เหนือ Peak ได้

ในช่วงเวลาที่เกิด Drawdown แม้จะเกิดกำไรขึ้นบ้างแต่ขนาดกำไรรวมไม่มากพอจนสร้าง Equity ให้เหนือระดับ Peak เดิมได้ Drawdown นั้นก็ยังดำเนินต่อไปจนกระทั่ง กำไรรวมพลิก Equity จนสร้างจุดสูงสุดใหม่ได้ กำไรรวม>Drawdown , Drawdown นั้นก็จะสิ้นสุดลง

Drawdown จะมีความลึกได้หลายขนาด Drawdown ที่มีความลึกมากที่สุดจะเรียกว่า Maximum Drawdown เป็นช่วงที่ระบบเกิดวิกฤติอย่างมาก ถ้าไม่สามารถผ่านช่วงวิกฤตินี้ไปได้ เนื่องด้วยหลายสาเหตุ สิ่งที่เกิดขึ้นที่จะตามมาคือ Margin Call(มีภาพยนตร์เกี่ยวกับ subprime ชื่อเรื่องนี้ ให้คำคมหลายคำลองหามาชมดู) เรียกเงินประกันเพิ่ม หรือ เติมเงินเพื่อให้คงสถานะเดิมต่อไป ถ้าไม่มีทุนเติมเงินจะถูก broker marketing บังคับปิด ซึ่งถ้าเป็นธุรกิจสิ่งที่เกิดขึ้นคือการล้มละลาย การถูกบังคับปิดไม่มีทางที่จะสร้างความเสียหายเล็กน้อยอย่างแน่นอน

อันตรายของ Drawdown

มีความเข้าใจไขว้เขว้ว่าถ้าจะดูความเสี่ยงของระบบให้ดูที่ Max Drawdown ในความเป็นจริง MDD จะเกิดขึ้นแค่ครั้งเดียวเพราะเป็น Maximum คือค่ามากที่สุด ช่วงเวลาดังกล่าวระบบอาจไม่เหมาะสมกับสภาวะของตลาดจึงสร้าง MDD ขึ้นมาได้ แต่หลังจากนั้นก็ไม่เคยเกิดค่า Drawdown ที่ใกล้เคียง MDD อีกเลย ระบบอาจทำงานได้ดีมี Drawdown ขนาดเล็กไปเรื่อยๆ หรือแม้กระทั่งมี Drawdown ขนาดใหญ่ แต่ทุกครั้งก็จะแก้ไขสถานการณ์กลับมากำไรได้ทุกครั้ง ความสามารถแบบนี้จะมีในระบบที่ตั้งใจออกแบบให้มีลักษณะ Robust
MDD เกิดขึ้นแค่หนเดียวแต่ การ Recover เกิดขึ้นบ่อยครั้ง เพราะไม่เช่นนั้นระบบจะหยุดทำงานถ้าแก้ไข Recover กลับมาไม่ได้
การดูความเสี่ยงของระบบอาจต้องคำนึงถึงความสามารถเหล่านี้ด้วย แม้จะยากที่จะเข้าใจระบบในคุณสมบัตินี้ อาจต้องตัดช่วงเวลาพิจารณาเป็นช่วงๆ ช่วงระบบกำไรน้อย กำไรมาก ขาดทุนมีลักษณะ Recover หรือ MDD แต่ละช่วงเป็นอย่างไร แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม นักลงทุนควรให้ความสำคัญความสามารถเหล่านี้ให้มาก เพราะคุณสมบัตินี้จะหมายถึงระบบที่กำไรได้เสมอแม้จะมี Drawdown ที่สูง อาจเทียบกับระบบที่ Drawdown ต่ำแต่ไม่แน่ว่าจะ Recover กลับมาทำกำไรได้ ซึ่งจะเกิดในสภาวะ Crash ที่ระบบจะล้าง Portfolio ผู้เล่นได้ในระยะสั้นๆ แม้สถิติในอดีตจะมี MDD ที่ต่ำมากก็ตาม วิกฤติส่วนมากที่เป็นข่าวจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับการ Crash ของ System ใดๆที่เกิดขึ้นหนเดียวแล้วระบบล่ม ซึ่งสร้างความไม่เชื่อมั่นให้ระบบอื่นๆเป็นอย่างมาก แม้จะเป็นความผิดพลาดของนักออกแบบที่ประมาท ไม่รอบคอบจำนวนน้อยก็ตาม

Drawdown จะถูกมองข้ามได้ง่ายมากเพราะการเทรดมักจะแต่แผนการ วิธีการ ที่ทำอย่างไรให้ได้กำไร มีสูตรไหน เทคนิคใดที่ดีเยี่ยมสร้างกำไรได้ แต่มักจะไม่มีแผนการแก้สถานการณ์วิกฤติ ไม่ว่าจะขนาดเล็ก หรือขนาดใหญ่แค่ไหนก็ตาม ลักษณะจะเหมือนการซ้อมหนีไฟ ถ้าทำงานอยู่บนตึกชั้น 15 แล้วเกิดไฟไหม้ขึ้นมาจริงๆ โดยผู้ที่อยู่ที่ชั้น 15 ไม่เคยหาทาง หรือซ้อมหนีไฟ สิ่งที่เกิดขึ้นจะเป็นสิ่งที่เลวร้ายอย่างคาดคิดไม่ถึงแน่นอน ทั้งแสงสว่างที่ถูกตัด ควันไฟที่บดบังทางเดิน ความโกลาหลของการที่ไม่ได้ฝึกซ้อมว่าต้องแก้ปัญหา หาทางออกอย่างไหร จะสร้างความเสียหายได้อย่างร้ายแรง
ในการเทรด TFEX เช่นเดียวกัน การเกิด Drawdown จะมีในทุกระบบที่สร้างกันขึ้นมาได้ เพราะไม่มีระบบอะไร กำไร 100% แค่ขาดทุน 1 ครั้งแล้วครั้งนั้นมีขนาดใหญ่ มีการถัวเฉลี่ย double loss เข้าไป ขาดทุนแค่หนเดียวก็ทำให้ล้มละลายได้ ดังเช่นเหตุการณ์ Baring Bank ที่ล้มละลายในปี 1995 แม้จะไม่ใช่ความผิดแค่ครั้งเดียวแต่เป็นการผิดครั้งที่ใหญ่โตเกินกว่าจะแก้ไขได้ที่สะสมมาจนเกิดเหตุแผ่นดินไหว (จาก wiki)  หรือสถานการณ์ที่เกิดขึ้นระดับโลก Market Crash แต่บ.ไม่ได้เตรียมหนทางป้องกันไว้ที่เกิดขึ้นกับ Rothschild ในปี 1987 (จาก wiki)

แม้ว่านักเทรดรายย่อยจะไม่ได้สร้างความเสียหายระดับมโหฬารเมื่อเทียบกับสิ่งที่บ.ทำได้ แต่ถ้าในลักษณะเปรียบเทียบส่วนบุคคล คิดเป็นสัดส่วน % ของเงินทุนที่มี ความเสียหายแค่เล็กน้อย แต่เกิดขึ้นซ้ำๆ เช่นในขาขึ้นที่ราคาไต่ระดับขึ้นแบบช้าๆ สลับการปรับตัวลงเล็กน้อย มือใหม่มักจะชอบดัก short แทงสวนทิศทางเพราะสังเกตเห็นว่าขึ้นมารุนแรงต้องปรับตัวลงบ้าง แต่ก็ผิดคาดต่อเนื่อง short แล้ว ราคาลงเล็กน้อยแล้ว เปิด gap พุ่งสวนทิศขึ้นมา ในขาขึ้นที่เกิดขึ้น 2-3 เดือน มือใหม่สามารถขาดทุนจาก short ได้มากถึง 20 ครั้ง ซึ่งแน่นอนต้องสร้าง Drawdown ที่ทำให้ท้อแท้อย่างแน่นอน ทั้งจำนวนครั้งที่สร้างความลำบากใจ และขนาดขาดทุนรวมที่กัดกิน Equity ต่อเนื่อง ยิ่งสร้างความไม่สบายใจให้อย่างมาก ผิดกับความคาดหวังที่อุตส่าห์ศึกษาวิธีทำกำไรในรูปแบบต่างๆ แต่กลับมาเจอสถานการณ์ Drawdown ต่อเนื่อง กำไรที่ได้ก็มีแต่ได้ขนาดที่ไม่ cover loss ได้
สาเหตุดังกล่าวจะเป็นสาเหตุหลักที่นักเทรดเกือบ 95% มีอายุการเทรดได้ประมาณ 1 ปี แล้วต้องหยุดไป เงินทุนไม่เพียงพอ หรือ สิ้นหวังกับระบบที่ศึกษามา ระบบที่ศึกษามาส่วนมากจะกล่าวถึงการทำกำไร จะไม่กล่าวถึงกรณี ล้มเหลว ซึ่งการทำกำไร กับการขาดทุนจะมีโอกาสที่ไม่ต่างกันมากนัก ถ้าเรียนรู้แต่การทำกำไร ก็เหมือนการเรียนรู้เพียงครึ่งนึง อีกครึ่งซึ่งก็เกิดขึ้นและสำคัญไม่แพ้กันคือเรียนวิธีการขาดทุนอย่างไร ให้เอาตัวรอดได้ รอดจาก Drawdown ซึ่งผู้ที่ผ่านมาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำได้ทุกครั้งที่เจอวิกฤติ ก็จะเป็นนักเทรดมืออาชีพ อย่างที่ Soros เป็นอยู่ที่เน้นกลยุทธการเอาตัวรอดเป็นอันดับแรกก่อนเสมอ

การเอาตัวรอดจาก Drawdown 

องค์ประกอบของ Drawdown จะประกอบไปด้วยการขาดทุน ซึ่งเป็นขนาดขาดทุนรวมที่ทำให้ Equity ลดลงจาก Peak Equity ลงมาถึง Valley โดยมีระดับ Margin Call Level เป็นระดับที่ต้องเติมเงินเป็นระดับที่อันตราย Valley ไม่ควรลงมาถึงระดับดังกล่าว เพราะถ้าลงมาถึงจะหมายถึงการล้มละลายในทางเทคนิคนั่นเอง ไม่ว่าเราจะมีเงินทุนสำรองไว้แค่ไหน แต่ก็เป็นการเติมเงิน ดึงเงินทุน เพิ่มทุนเข้ามาใน Equity(คล้ายๆกับบ.ที่เรียกเพิ่มทุนเพื่อขยายกิจการ ซึ่งส่วนมากจะเป็นการใช้หนี้สินมากกว่านำไปลงทุน บ.ที่ดีปกติจะไม่เพิ่มทุน ถ้าบ.ดีมากๆจะลดทุน ซื้อหุ้นคืนเป็นต้น เพราะบ.มีความสามารถทำกำไรได้มากนั้นเอง)

เมื่อเราทราบว่าเราขาดทุนได้เสมอ โดยขนาดขาดทุนรวมต้องไม่ทำให้ Equity ลงมาถึง Margin Call ในกลยุทธเชิงรับ การทำให้ ระดับ Margin Call อยู่ห่างจาก Peak Equity มากๆจะเป็นกลยุทธที่พึงกระทำ 
กลยุทธเชิงรับอีกแบบ ทำให้ Drawdown มีขนาดเล็ก ไม่ให้ความยาว ความลึกลงมาถึง Margin Call Level 
กลยุทธเชิงรุก ทำให้ระบบฟื้นตัวทำกำไรได้เร็ว มีขนาดกำไรรวมมากกว่า ความลึกของ Drawdown โดยมีรายละเอียดดังนี้

กลยุทธเชิงรับ
  • Margin Call Level, ปรับระดับ Margin Call Level ให้ห่าง Peak Equity โดยการลด leverage หรือเพิ่มเงินประกัน วางเงินประกันให้เผื่อ Drawdown ที่เกิดขึ้นระบบว่าปกติจะมี Drawdown มากเพียงใดก็วางเผื่อให้มั่นใจว่า Drawdown จะลงมาไม่ถึง , จะทราบได้อย่างไรว่าระบบมี Drawdown เท่าใดก็ต้องอาศัยการ backtest ซึ่งการ backtest ก็ไม่ได้หมายถึงว่าจะไม่มี Drawdown มากไปกว่า backtest เพราะ backtest เป็นการทดสอบย้อนหลัง ไม่สามารถบอกอนาคตอะไรได้ สิ่งที่ทำได้คือการทำเผื่ออย่างเพียงพอซึ่งเป็นศิลปะ ไม่สามารถใช้คณิตศาสตร์สถิติบอกได้
  • Drawdown ขนาดเล็ก, การปรับให้ Drawdown มีขนาดเล็กจะต้องปรับขนาดขาดทุนรวมที่ต่อเนื่องกันให้มีขนาดลดลง ระบบจะประกอกบด้วยความแม่นยำ และขนาดกำไร ขาดทุน การปรับขนาดขาดทุนรวมลดลงจะปรับความแม่นยำให้มากขึ้น หรือปรับขนาดขาดทุนให้เล็กลง(ปรับขนาดกำไรเหมือนจะเป็นสิ่งที่ช่วยได้ แต่ในความเป็นจริงเราขยายขนาดกำไรไม่ได้ ตลาดเป็นผู้กำหนดไม่ใช่ผู้เล่นเป็นผู้กำหนด) ความแม่นยำ เกี่ยวข้องกับการสร้าง signal ให้มีความแม่นยำมากขึ้นด้วยการใส่ filter บางอย่างให้ signal มีความแม่นยำมากขึ้นลด false signal ออกไป ปรับขนาดขาดทุนให้เล็กลงอาจใช้ stop loss จำกัดขนาดการขาดทุนซึ่งเราต้องทราบจาก backtest ว่าปกติจะขาดทุนได้มากเพียงใดก็สามารถปรับ stop loss ให้เล็กลง แต่ต้องไม่ไปรบกวน signal เดิม ไม่ให้หลุดออกจากทิศทางกำไรก่อนที่จะได้กำไร การปรับความแม่นยำ ลดขนาดขาดทุนต้องมีทดสอบ backtest จนมั่นใจว่ารบกวนระบบเดิมให้น้อยที่สุด ทำสิ่งที่ควรจะเป็น ไม่ทำสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้น
กลยุทธเชิงรุก
  • Recovery Profit>Drawdown, กำไรรวม>Drawdown เนื่องจากเป็นขนาดกำไรรวม การทำงานร่วมระหว่างความแม่นยำและขนาดจะมีความสำคัญ ถ้าส่วนใดส่วนนึงมีความด้อย อีกส่วนต้องโดดเด่นเพื่อชดเชยข้อบกพร่องนั้น เพื่อให้ขนาดกำไรรวม Recover Drawdown พลิกจากขาดทุน turnaround เป็นกำไรได้
ถ้ามองดูอย่างผิวเผินอาจทำให้คิดว่าระบบที่ดีควรทำกำไรได้มาก ทำกำไรได้มากก็จะขาดทุนน้อย แต่ในระหว่างการเดินทาง กำไรที่มากอาจมาภายหลัง เกิด Drawdown ขึ้นระหว่างทาง จนระบบหรือแผนรับมือที่ไม่มีประสิทธิภาพแก้สถานการณ์กลับไม่ได้ Drawdown หรือวิกฤติที่เกิดจะทำให้ผู้เล่นออกจากเกมส์หรือล้มละลาย ก่อนที่จะได้กำไรมาก
การแก้ไขต้องเตรียมพร้อม สร้างหนทาง Exit Strategy ในการรับมือตั้งแต่เริ่มขาดทุน หรือดีที่สุดคือวางแผนตั้งแต่ช่วงที่กำไร หลังจากฉลองชัยชนะ เพราะเมื่อมีกำไรมากสิ่งที่ตามมาก็คือการขาดทุน และเราจะไม่มีทางทราบได้ว่าขาดทุนจะมีขนาดใหญ่หรือขนาดเล็ก จำนวนครั้งมากหรือน้อย แม้ว่าจะมีวิธีในการหา Pattern จุดเข้าออก แต่จะไม่มีวิธีหา Pattern ของการขาดทุน กำไรว่ามีลักษณะแบบใด หรืออาจเป็นลักษณะสุ่ม Random เกิดเหตุการณ์ที่คาดเดาได้ยาก

สรุป

ระบบที่จัดการกับ Drawdown ผ่านวิกฤติใหญ่น้อย ได้ครั้งแล้วครั้งเล่า โดยที่ไม่ต้องเพิ่มทุน เติมเงินแต่อย่างใด ระบบเช่นนี้จะมีคุณสมบัติที่เรียกว่า Robust System ทนทานอยู่ได้หลายสภาวะ  ซึ่งเป็นความหมายในเชิงแคบ ในเชิงกว้างจะหมายถึงระบบที่นำไปใช้กับ สินทรัพย์ใดๆก็จะใช้ได้ทั้งหมดซึ่ง ความสามารถในการเอาตัวรอด ทุกสภาวะ ถ้ามองในแง่ธุรกิจ ก็คือความั่นคง ผู้ลงทุนจะมีความกังวลที่น้อยมาก ว่าธุรกิจจะล้มละลาย พังลงได้ บริหารระบบหรือธุรกิจให้เป็นไปอย่างที่ควรจะเป็น โดยที่ไม่ต้องรบกวนการเพิ่มทุนจากภายนอก แม้ในช่วงวิกฤติระบบก็แก้ไขสถานการณ์ให้ผ่านไป จนพลิกกลับมากำไรได้

Success consists of going from failure to failure without loss of enthusiasm.
Winston Churchill

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น