วันเสาร์ที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2557

Trading System Framework: องค์ประกอบของ system trade

การลงทุนสำหรับตลาดทุน แม้จะมีเป้าหมายง่ายๆว่า ลงทุนไปให้ได้ผลตอบแทนกลับคืนมา แต่วิธีการโดยทั่วไปมักจะต้องมีการใช้หลักเกณฑ์ในการช่วยตัดสินใจ ซึ่งหลักเกณฑ์เหล่านั้นอาจนำมาจากทฤษฎี การสังเกต ทดสอบ ทดลอง ใช้งานจริง มาสร้างเป็นหลักเกณฑ์ หลักเกณฑ์เหล่านั้นจะเป็นองค์ประกอบของ system trade ระบบช่วยในการตัดสินใจ ซึ่งผู้ใช้งานอาจตั้งใจหรือไม่ตั้งใจสร้างองค์ประกอบเหล่านั้นขึ้นมา แต่ก็หลีกเลี่ยงไม่พ้นที่จะต้องใช้องค์ประกอบเหล่านั้น

การสร้างระบบช่วยตัดสินใจในการลงทุนแบบ system trade จะนำลักษณะธรรมชาติที่เกิดขึ้นจริง จากการสังเกต เก็บรวบรวมสิ่งที่เกิดขึ้นจริง แล้วแยกแยะ จัดหมวดหมู่เพื่อสร้างทฤษฎี หลักเกณฑ์ เพื่อง่ายต่อการใช้งาน
ลักษณะของการเคลื่อนไหวของราคาหรือเงื่อนไข ปัจจัยที่มีผลกระทบตอบผลตอบแทนของสินทรัพย์ทางการเงิน จะมีลักษณะที่เรียกว่า infinite combination ways คือเกิดเหตุการณ์ที่ไม่ซ้ำเดิม แต่อาจจะคล้ายเดิมได้ ที่เป็นเช่นนี้เพราะเหตุการณ์เดิมแม้จะเกิดซ้ำแต่สิ่งแวดล้อมต่างไปเพียงเล็กน้อย ผลตอบแทนก็จะมีลักษณะเปลี่ยนแปลงได้
ถ้าใช้แนวคิดที่บอกว่า ทฤษฎีทางการเงิน พื้นฐานทางเศรษฐกิจ ทฤษฏีทางเทคนิค pattern ราคา เขียนบอกไว้ว่าถ้าเกิดเหตุการณ์แบบนี้ จะต้องเกิดเหตุการณ์ใดตามมา ก็จะกลายเป็นเรื่องที่ไม่ใช่ความจริง

เพราะเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตยากที่จะเกิดขึ้นซ้ำรอยเดิมจริงๆ ไม่มีทฤษฎีใดที่บอกอนาคตได้อย่างแท้จริง ซึ่งหลายต่อหลายคนมักจะปฏิเสธเรื่องเหล่านี้ จากความเชื่อประสบการณ์ที่เข้าใจในระนาบความจริงแบบ 1 มิติ ไม่ใช่เรื่องนี้ก็ต้องเป็นเรื่องนี้ ไม่ถูก ก็ผิด ซึ่งก็ไม่ตรงกับธรรมชาติที่ไม่เคยมี สีขาวหรือสีดำที่แท้จริง มีขาวหม่นๆ ขาวจาง ขาวเหลือง ดำมาก ดำน้อย แล้วแต่จะบรรยาย

จากความจริง 1 มิติของแต่ละทฤษฎีเหล่านี้(เราจะไม่พบ ทฤษฎีใดที่อยู่ในระนาบ 2 มิติที่บอกความจริงมีหลากหลาย มีแต่บอกไปตรงๆว่าความจริงคืออะไร) จะทำให้ให้สร้างระบบที่มีแนวคิดที่หลากหลายตามมุมมองที่ต่างกันไปได้ หลายทฤษฎีอาจอธิบายคนละเรื่องของการเคลื่อนไหวราคา แต่หลายทฤษฎีก็อธิบายเรื่องเดียวกัน แม้จะเป็นทฤษฎีทางเทคนิคก็ยังมีหลากหลายแบบ แล้วแต่ผู้คิดและค้นพบ เช่น indicator ทางเทคนิคทีไทยรู้จักและนิยมใช้ไม่ถึง 10 indicator แต่ indicator ที่สร้างขึ้นมาใช้งานจริงๆมีมากเป็นพันๆ indicator ที่นิยมใช้ก็ไม่ได้บ่งบอกถึงประสิทธิภาพ แต่อาจหมายถึงการคิดขึ้นมาก่อนคนจึงนิยมก่อน รู้จักและแพร่หลายก่อน indicator อื่นๆ

วิสัยทัศน์มุมมองต่อโลกของความเป็นจริงจะส่งผลต่อการสร้างระบบ system trade ที่จะเป็นลักษณะเฉพาะ หรือบุคลิกของระบบที่สร้างขึ้นมาได้
ระบบที่สร้างขึ้นมาแม้จะมีมุมมองที่แตกต่างจากทฤษฎีที่หลากหลาย เช่นในบทความ กลยุทธ TFEX ที่กล่าวถึงการเล่นตามทิศทางหรือสวนทิศทาง ชนิดนักลงทุน ที่แบ่ง style การเล่นสั้นยาวต่าง timeframe กันตามระบบที่สร้างขึ้นจากมุมมองที่ต่างกัน แต่ระบบที่ต่างกันเหล่านี้ก็จะมีองค์ประกอบ framework ที่คล้ายๆกัน แม้ว่าผู้สร้างจะจงใจสร้างองค์ประกอบเหล่านั้นขึ้นมาหรือไม่
เมื่อจะใช้งานระบบ system trade ช่วยตัดสินใจในการลงทุน ก็จะหลีกไม่พ้นที่จะใช้งานองค์ประกอบ framework เหล่านี้

Psychology

จิตวิทยานักลงทุน ในเบื้องต้นจะหมายถึงลักษณะความคิดของนักลงทุนที่จะมุ่งประเด็นหรือกระทำบางอย่างตามความคิดความเชื่อที่เป็นลักษณะประจำของนักลงทุนเอง ถ้านักลงทุนชอบความตื่นเต้นเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว หรืออาจเรียกว่าใจร้อน ก็จะส่งผลให้การกระทำหลายๆอย่างสะท้อนความชื่นชอบนี้ออกมา อาจเป็นการเล่นสั้น ใช้ timeframe ที่เล็ก ใช้ stop loss ที่แคบ ใช้เครื่องมือ หรือกรอบการ trade ที่ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงแม้เพียงเล็กน้อย
แต่ถ้านักลงทุนไม่นิยมการเปลี่ยนแปลงบ่อยครั้งมานัก ชอบอะไรช้าๆ แต่มั่นคง ช้าแต่ชัวร์ ก็อาจจะชอบระบบการลงทุนที่ มีจุดเปลี่ยนแปลงไม่บ่อยครั้งนัก มี timeframe ที่ใหญ่ ถือสัญญาหลายวัน หลายอาทิตย์หรืออาจเป็นเดือนๆ การถือสัญญาข้ามเดือนได้ ก็ต้องมีทุนมากเพียงพอที่จะทนสภาวะการแกว่งของราคาที่มี leverage เป็นตัวเร่งกำไรขาดทุนได้มาก แต่ % กำไรถ้านำไปเทียบกับการเล่นสั้นบางครั้งก็ได้เท่ากัน มากกว่าหรือน้อยกว่า แล้วแต่สภาวะของตลาด แต่จะสร้างความสบายใจในการลงทุน comfort zone ได้ต่างกันตามลักษณะนิสัยของนักลงทุน

เนื่องจากความคิดความเชื่อเหล่านี้เป็นสิ่งที่ติดตัวนักลงทุนไปตลอดยากที่จะเปลี่ยนความคิดความเชื่อบ่อยๆได้ จึงส่งผลต่อการกระทำอย่างต่อเนื่อง การชอบอะไรที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว อาจทำให้เกิดลักษณะที่เป็นผลร้ายจากแนวคิดดังกล่าวได้เช่นการขายหมู การ take profit เร็วไป ได้กำไรมาเพียงน้อยนิด ได้กำไรมาแล้วจะทนให้มีกำไรมากไม่ได้ ต้อง take profit ออกมา หรือสัญญาณให้เปิดสัญญาใหม่ยังไม่เกิด แต่ก็เข้าก่อนสัญญาณ คาดการณ์ว่าอาจจะเกิดสัญญาณให้เปิด เสี่ยงซื้อซึ่งเป็นลักษณะไม่พึงประสงค์มาจากความคิดความเชื่อในลักษณะนี้
สำหรับกลุ่มที่ชอบความมั่นคง การ let loss run หรือปล่อยให้ขาดทุนจากความประมาท เบื่อหน่ายการที่ต้องเข้าออกบ่อยครั้งก็เลยปล่อยให้ let loss run เพราะเข้าใจว่า ไม่นานทิศทางก็ย้อนกลับ แต่ในความเป็นจริงทิศทางปัจจุบันอาจสร้างความเสียหายได้อย่างมาก เมื่อรู้ตัวก็สายไปเสียแล้ว

จิตวิทยานักลงทุนนี้ แม้จะมีระบบ กลยุทธ วิธีการที่ออกแบบมาอย่างดี แต่ถ้าไม่ปฏิบัติตามเนื่องจากไม่เข้ากับความคิด ความเชื่อ ลักษณะนิสัยของนักลงทุนเอง ระบบเหล่านั้นก็เปล่าประโยชน์ที่จะนำมาใช้แบบไม่เต็มรูปแบบ การพิจารณาสร้างระบบที่เหมาะสมกับลักษณะนิสัยอาจมีความสำคัญมากที่สุดในระบบ system trading ก็เป็นได้ ระบบที่สร้างมาแล้วใช้งานจริงแม้จะมีประสิทธิภาพที่ด้อยกว่าระบบอื่นที่ไม่ตรงกับแนวคิดของผู้ใช้ ผู้ใช้ก็มักจะสบายใจที่ได้ใช้งานระบบตนเองชื่นชอบมากกว่า

Trend

ทิศทางของราคาหรือการระบุสินทรัพย์ที่น่าสนใจ ในการวิเคราะห์ทางเทคนิค จะมีการระบุ trend ของราคาได้โดยใช้ trend line หรือเส้นค่าเฉลี่ย ซึ่งเป็นการกำหนดทิศทางโดยภาพใหญ่ แต่ถ้าหากใช้ trend line เป็นสัญญาณเข้าออกโดยตรง อาจไม่ได้ผลลัพธ์ที่ดีนัก ดังบทความ trendline จุดกลับตัว แต่อาจใช้ระบุสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตและอาจสันนิษฐานว่า trend นั้นยังคงอยู่ในอนาคต สาเหตุที่ trendline ใช้เป็นสัญญาณเข้าออกไม่ได้เพราะการเคลื่อนไหวของราคาโดยแท้จริงจะเป็นแบบ random แบบมีทิศทาง กลุ่มราคาจะเหวี่ยงขึ้นลงในทิศทาง แต่การไปกำหนดกรอบราคาเป็นเรื่องที่ไม่สอดคล้องกับธรรมชาติจริง ราคาอาจวิ่งเกินกรอบแล้วเลี้ยวกับเข้าทิศทางเดิมได้บ่อยครั้ง และจะมีโอกาสพอๆกับการกลับทิศทาง จึงเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะที่จะกำหนดกรอบที่แน่นอน แค่บอกได้ว่าไปทิศทางใด

ในระดับสินทรัพย์ การระบุ trend จะเป็น spotter ว่าสินทรัพย์ใดน่าสนใจลงทุน การลงทุนในสินทรัพย์ที่ sideway แคบๆ ยากที่จะได้ผลตอบแทนที่ดี แต่สำหรับสินทรัพย์ที่มีการเปลี่ยนระดับราคาหรือมีทิศทางอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะใช้วิธีหรือเทคนิคใดสำหรับสินทรัพย์นั้น ก็จะมีโอกาสอย่างมากที่ได้ผลตอบแทนที่ดีอย่างมาก จะใช้เทคนิคคอล พื้นฐาน การทายตัวเลขหรือแม้แต่โหราศาสตร์ ถ้าไปในทิศทางที่มีการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใดอย่างชัดเจน ก็ไม่ใช่เรื่องยากสำหรับผลตอบแทนในระดับที่น่าพอใจ

การเลือกสินทรัพย์ที่มีทิศทางไม่ว่าจะขึ้นหรือลงอย่างมาก ก็จะเป็นตัวกำหนดผลตอบแทนได้ดี

Signal

สัญญาณซื้อขาย อาจใช้ระดับราคาหรือ indicator หรือ pattern เป็นจุดเข้าออกเปิดปิดสัญญาก็ได้ทั้งนั้น
ระดับราคาจะเป็นวิธีที่ง่ายที่สุด ซึ่งสอดคล้องกับการเล่นสั้นๆที่กำหนดแนวรับแนวต้าน ถึงจุดนี้ต้องทำอย่างไร โดยมีแนวคิดว่าราคาต้องเดินทางไปที่จุดที่กำหนด แต่แนวรับแนวต้าน มีความแม่นยำเพียงใด ดูได้ในบทความ แนวรับแนวต้าน ระดับราคาจะมีวิธีการสร้างที่ง่ายและสะดวกทั้งผู้วิเคราะห์และผู้ใช้งาน สื่อสารให้เข้าใจก็จะทำได้ง่ายมาก จึงเป็นวิธีที่นิยมเสมอมา
การใช้ indicator เป็นสัญญาณเข้าออก ผู้ใช้งานจะสามารถใช้งานได้โดยตรงถ้ามีความรู้ในการใช้กราฟทางเทคนิคไม่จำเป็นต้องใช้นักวิเคราะห์แนะนำแต่อย่างใด จึงเป็นวิธีที่นักวิเคราะห์ยากที่จะสอนให้นักลงทุนรู้ถึงเรื่องนี้ อาจจะเป็นความยากที่นักลงทุนทั่วไปไม่เข้าใจ หรือการขาดเครื่องมือใช้งาน หรืออาจเป็นการขัดกันของผลประโยชน์ที่ ถ้าสอนนักลงทุนให้ใช้เครื่องมือเดียวกันกับนักวิเคราะห์ จะมีนักวิเคราะห์ไปเพื่ออะไรกัน
การใช้ pattern จะเป็นลักษณะรวบรวมความคล้ายกันของลักษณะรูปร่างของราคาจัดเป็นหมวดหมู่ ซึ่งจะมีทั้งแบบกลุ่มของ candle stick หรือแบบที่เป็นลักษณะเรขาคณิต สามเหลี่ยม สี่เหลี่ยม Head & Shoulder round bottom-top การจัดกลุ่มรูปแบบเหล่านี้จะสันนิษฐานว่า ส่วนที่ขาดหายไปของ pattern จะต้องเป็นไปตาม pattern นั้น คล้ายกับการต่อ jigsaw แนวคิด pattern นี้ถ้าใช้ไปนานๆ ผู้ใช้งานจะมีความมั่นใจสูงมากขึ้นเพราะเห็นถึงลักษณะที่ซ้ำกันของ pattern หลายครั้ง มี pattern ตามตำราเกิดขึ้นจริง และจะเพิ่มความสนใจอย่างมากถ้า pattern เหล่านั้นเกิดขึ้นแบบเต็มรูปแบบ

แต่ signal ใดๆ หรือเทคนิคใดๆ ก็มีความไม่แม่นยำติดมาด้วยเสมอ บางครั้งจะสร้างกำไรให้ได้ดีใจแบบน่ายินดีอย่างมาก แต่ก็มีหลายครั้งที่ไม่เป็นไปตามที่หวัง ที่เป็นเช่นนี้เพราะธรรมชาติของความไม่แน่นอนของการเคลื่อนไหวราคา ไม่มีกฏเกณฑ์ว่าการเคลื่อนไหวต้องเป็นไปตามทฤษฎี ไม่มีการสัญญาใดๆว่า ทฤษฎีกล่าวเช่นนี้แล้วสิ่งที่เกิดขึ้นจริงต้องสัมพันธ์กับทฤษฎี เป็นแต่สิ่งที่สังเกตได้ว่ามีบางครั้งเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว และบางครั้งนักวิเคราะห์ก็อาจจะกล่าวเกินจริงไปว่าทฤษฎีนี้แม่นยำมากถึง 80% ซึ่งต้องการพิสูจน์เชิงสถิติมาเปิดเผยความจริงไม่ใช่ใช้ความน่าเชื่อถือของผู้กล่าว ความจริงกับตัวบุคคลไม่ได้มีความสัมพันธ์กันจริงจัง บุคคลที่น่าเชื่อถืออาจกล่าวเรื่องไม่จริงเพราะความไม่รู้ก็ได้ เช่น RSI Divergence แม่นยำเพียงใด  Fibonacci แนวรับแม่นยำแค่ 10% Trendline บอกจุดกลับตัว  Boilinger Band Signal Confirm การผสม indicator ล้วนแต่มีความแม่นยำที่ต่ำมาก ไม่ใกล้เคียงกับคำกล่าวอ้างแต่อย่างใด
การทำงานกับความไม่แม่นยำเหล่านี้ มีกลยุทธที่จะสร้างความได้เปรียบได้ถ้าเสริมจุดแข็ง ลดจุดอ่อน การพยายามปรับให้เทคนิค signal แม่นยำมากขึ้นมักจะเป็นเรื่องที่ยากและฝืนธรรมชาติมากเกินไป เหมือนการพยายามหาระบบจอกศักดิ์สิทธิ์ Holy Grail ที่จะมอบความเป็นอมตะแก่ผู้เป็นเจ้าของ หรือระบบที่ให้ความแม่นยำสูงแบบใกล้เคียง 100% ถ้ามีระบบเช่นนั้นจริง ยากที่จะมีผู้ค้นพบมาบอกเล่าต่อให้ผู้อื่นได้ใช้ หรือจะเพียรพยายามสร้างขึ้นมาเอง ก็ฝืนธรรมชาติของการล่วงรู้อนาคต ระบบที่รู้แค่อดีตยากที่จะมีความแม่นยำสูง

Entry

การเปิดสัญญา รวมไปถึงการปิดสัญญา เมื่อมี signal ให้เปิดสัญญา signal อาจจะระบุราคาที่ให้ entry อาจเป็น long 870 แต่นักลงทุนที่ key in จะไม่ได้ราคา 870 จากการ delay ในการ key ราคาได้วิ่งไปในทิศทางเดียวกับ signal การ entry อาจได้ราคา 872 เป็นราคาที่ match จริง ส่วนต่างที่เกิดขึ้น 872-870=2 จุดจะเรียกว่า slippage
slippage ทีสูงอาจมาจากหลายสาเหตุเช่น การต่อรองราคา แต่ราคาก็ไม่ย้อนกลับลงมา match กับราคาที่ตั้งไว้ ก็ต้องไล่ราคาจน match ก็จะทำให้ต้นทุนสูงขึ้น
transmission signal delay ถ้าเป็นระบบที่ผู้ใช้งานต้องคอย monitor signal แบบที่ไม่รู้เบื้องหลังการออกแบบ แต่คอยเฝ้า signal ที่ส่งมาเป็น message การ delay จากเวลาที่ signal สร้างขึ้นจนถึงการส่ง message ก็มีช่วงเวลานึง การ delay จาก message ที่ส่งมาแล้วจนถึงเวลาที่ผู้ใช้ได้รับ message แปลความ แล้วจึงได้ key in จะสร้าง slippage ได้อย่างคาดไม่ถึง ถ้าระบบ message แบบนี้สร้างจำนวน transaction จำนวนมาก 20 ครั้งต่อเดือน ถ้าครั้งนึงสร้าง slippage ได้ 2 จุดก็หมายถึง 40 จุดที่ต้องสูญเสียไปจากการ delay
slippage เหล่านี้เป็นสิ่งที่ระบบใดๆก็มักจะไม่กล่าวถึง ถ้าการออกแบบให้ระบบมี transaction จำนวนมากจะส่งผลต่อผลตอบแทนรวมอย่างมาก

นอกจาก slippage แล้วจะมี commission ที่นักลงทุนรายย่อยต้องจ่ายเป็นต้นทุน แต่สถาบันที่ trade จะไม่ต้องจ่ายค่า commission นี้ ถ้าเป็นระบบ day trade เล่นสั้นๆ สถาบันถือไปได้ซักพักก็คุ้มทุนได้กำไรเพียงพอที่จะ take profit แต่รายย่อยไม่สามารถทำเช่นนั้นได้ ต้องรอให้คุ้มค่า commission เปรียบเสมือนการว่ายน้ำแข่งกันที่ฝ่ายนึงใส่ชุดว่ายน้ำที่บางเบาปกติ แต่อีกฝ่ายใส่กางเกงยีนส์ลงว่ายน้ำ ผลลัพธ์ก็พอบอกได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ฝั่งไหนจะเป็นฝ่าย take profit ฝั่งใดจะเป็นฝั่งรอให้คุ้มทุน

Transaction มากหรือน้อยกระทบต่อผลตอบแทนโดยรวม

การ delay จากการ match ราคาและ commission จะเป็นผลร้ายต่อระบบที่สร้าง transaction จำนวนมาก ซึ่งถ้าไม่คำนวณต้นทุนเหล่านี้ให้ดี slippage อาจสูงได้ถึงครึ่งนึงของผลตอบแทนที่ได้ และถ้าระบบมีประสิทธิไม่ดี หรือไม่สม่ำเสมอ ปัญหาขนาดใหญ่ก็จะตามมาคือ ทุนไม่พอต่อการลงทุนต่อเนื่องได้ slippage กัดกินส่วนกำไรจนอาจขาดทุนได้ ระบบใดๆจะสร้างขาดทุนได้เสมอ หลีกเลี่ยงไม่ได้ การมี slippage จะเป็นการซ้ำเติมระบบที่ไม่ทนทาน ให้แสดงธรรมชาติของระบบออกมา

การมี transaction จำนวนมากใช่ว่าจะเป็นเรื่องไม่ดีเสมอไป ถ้า transaction ส่วนมากเป็น transaction ที่สร้างกำไรรวมได้มากเพียงพอ การเพิ่มจำนวนรอบก็หมายถึงกำไรรวมที่เพิ่มขึ้นหลายรอบ ระบบที่ออกแบบมาดี และเข้ากับธรรมชาติราคาในขณะนั้น (ระบบที่เล่นสั้นๆ จะมีสภาวะนึงที่ทำได้ดี จะไม่มีสภาวะที่ดีต่อเนื่อง เพราะการออกแบบให้มีส่วนการทำนายจำนวนมากเป็นส่วนประกอบ) จะสร้างกำไรได้อย่างน่าพอใจได้

สำหรับระบบที่มี transaction จำนวนน้อย นานๆ เข้าออกที ปัญหา slippage เหล่านี้แม้จะหลีกเลี่ยงไม่ได้เช่นกันแต่จะมีผลต่อกำไรรวมน้อยมาก จนไม่มีความจำเป็นต้องแก้ไขแต่อย่างใด เป็นปัญหาที่ไม่ต้องแก้ ปล่อยให้เกิดขึ้นก็ไม่เป็นเรื่องสำคัญแต่อย่างใด แต่ระบบ transaction น้อยๆจะมีจำนวนรอบน้อย อาจให้กำไรที่น้อยกว่าระบบที่เล่นสั้นกว่า ถ้าออกแบบระบบให้ take profit น้อยๆอาจไม่เพียงพอต่อผลขาดทุนรวม ถ้าออกแบบให้ take profit ช้าไปก็อาจเปลี่ยน transaction ที่น่าจะกำไรให้กลายเป็นขาดทุน คว้ากำไรมาไม่ได้ การออกแบบระบบให้ใช้งานได้พอดีต้องใช้การทดสอบ ทดลอง ใช้จริง ด้วยระยะยาวนานพอสมควรเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดี ไม่มีทฤษฎีที่ดีใดๆที่น่าใช้ ถ้าไม่ผ่านการทดสอบอย่างจริงจังมาก่อน ทฤษฎีก็จะเป็นแค่ทฤษฎีเป็นแค่เรื่องเล่า ถ้าไม่ได้ทดสอบ

Sizing, Risk and Capital

Sizing ขนาด postilion จะเป็นด้านนึงของการควบคุม Risk  ที่สัมพันธ์ Capital , การควบคุมความเสี่ยงต่อเนื่องมาจากความแม่นยำของ signal การ trade จะมีครั้งที่ขาดทุนเสมอ เป็นไปไม่ได้ที่การ trade จำนวนหลายครั้งเกิน 10-20 ครั้งจะสร้างกำไรติดกันได้ตลอด ซึ่งโดยปกติแล้ว signal จะมีความแม่นยำใกล้เคียงกับ 50% คือเล่น 10 ครั้งจะพบว่าขาดทุน 5 ครั้ง กำไร 5 ครั้ง บางระบบอาจให้กำไร 7 ครั้งขาดทุน 3 ครั้งได้
การขาดทุนคือสิ่งที่เกิดขึ้นเสมอไม่ว่าจะใช้ระบบใดๆ ถ้ากำไรรวมที่เล่นมา 7 ครั้งได้ 30 จุด หัก slippage แล้วเหลือ 20 จุด แต่พบว่าการขาดทุน 3 ครั้งนั้นขาดทุนรวม -30 จุด ผลตอบแทนรวมก็จะกลายเป็นขาดทุน
ทางแก้ปัญหานี้ จะทำได้หลายแบบ
การทำ stop loss ให้มีขนาดการขาดทุนที่ต้องการอาจเป็น -2 จุด -5 จุด หรือ -10 จุดแล้วแต่ signal ที่เลือกใช้ การใช้ signal ที่เล่นสั้นๆ ก็ควรใช้ stop loss แคบเพื่อให้เหมาะสมกับกำไรที่ไม่ได้มากนัก signal ที่ถือครองได้ยาวนานก็สามารถมี stop loss ที่มากได้ แต่การสร้าง stop loss ควรเป็นส่วนนึงของการออกแบบ signal เพราะผลลัพธ์ที่ต้องการขึ้นอยู่กับการทำงานของ signal และ stop loss ที่ทำงานไปพร้อมๆกัน การกำหนดให้ stop loss กว้างหรือแคบให้ผลลัพธ์ที่หลากหลายขึ้นอยู่กับ signal ดังบทความ stop loss

การควบคุม risk โดย sizing จะเป็นการคำนวณร่วมกับ stop loss เพือให้ risk% หรือการขาดทุนที่เป็น % มีขนาดที่เหมาะสมตามค่าความแกว่ง ที่ต้องมี sizing เพิ่มเติมขึ้นมาจาก stop loss เนื่องจากถ้าทุ่มเงินทุนลงไปทั้งหมด stop ที่สัมพันธ์กับค่าความแกว่งโดยธรรมชาติ(วัดความแกว่งได้โดย indicator ATR) แล้วพบว่า risk% มีขนาดใหญ่เกินกว่าที่จะยอมรับได้ เช่น ความแกว่ง ATR ระบุว่ามีความแกว่งมากถึง 10% ถ้าเทียบกับ sizing ปกติหรือ capital ที่จะลงทุนทั้งหมด การทำ stop loss ที่ 2% จะทำให้  position ที่เปิดนั้นชน stop loss ออกก่อนที่ทิศทางราคาจะเคลื่อนไหวไปในทิศทางกำไร การ trade อาจจะกำไรถ้าถือต่อไปแต่ stop loss ให้ปิด position เพราะความแกว่งที่เกิน stop loss
วิธีที่แก้ปัญหานี้คือการ ลด sizing ต่อ position ลง 5 เท่ากว่า เพื่อให้ risk % อยู่ในระดับต่ำกว่า 2 %(10/5)
เปิด position โดยการใช้ capital ที่เหลือเผื่อมากกว่า IM ต้องการ หรือมี sizing เพิ่มขึ้น เพื่อควบคุม risk% ให้อยู่ในระดับต่ำ
การทำเช่นนี้ กำไรที่ได้จะมี % ผลตอบแทนที่ลดลง แต่จะมีข้อดีคือ จะสามารถลงทุนได้ต่อเนื่อง ไม่ลด position ลงเมื่อเกิดการขาดทุนต่อเนื่องกันหลายครั้งที่สร้างขนาดขาดทุนที่ใหญ่  Max Drawdown ถ้าวาง sizing หรือ capital per position ไม่เหมาะสม การขาดทุนแค่ 3 ครั้งอาจสร้างความเสียหายที่ยากจะแก้ไขกลับมาได้ จากที่เคยเล่นได้ 10 position อาจลดลงมาเหลือ 8 position ใน 2-3 trade การแก้ไขกลับไปดังเดิมจะทำได้ยากมากขึ้น

การทำ capital ยังมีแง่มุมอื่นอีก เช่นการทำ fix capital คือ 1 position ใช้ sizing เท่าใด ก็จะถือว่า sizing นั้นเป็นส่วนนึงของ position จะกำไรขาดทุนก็ไม่ได้เพิ่มลด position นั้นแต่อย่างใดในรอบการลงทุน รอบการลงทุนอาจเป็น 1 ปี หรือแบบ dynamic capital ที่คำนวณ sizing ว่าจะสามารถเปิด position ได้เท่าใด การที่ได้กำไร หรือขาดทุนจะส่งผลต่อการเพิ่มลด position ทันที
การทำ dynamic capital มักจะนิยมใช้ในนักลงทุนมือใหม่ ที่ต้องการเร่งกำไร แต่อาจกลายเป็นเร่งขาดทุนได้ เพราะกำไรขนาดใหญ่ที่เกิดขึ้นในบางครั้ง สิ่งที่ตามมาจะเป็นการขาดทุนได้ การเร่งเปิด position จากกำไรที่ได้มามาก จะกลายเป็นการเปิด position เพื่อเร่งให้ขาดทุนมากขึ้นในครั้งถัดมา แนวคิดนี้เกี่ยวข้องกับจิตวิทยาการลงทุน ที่เข้าใจธรรมชาติของการลงทุนว่ามีความแม่นยำเพียงใด กำไรแล้วจะกำไรต่อเนื่องไปเรื่อยๆหรือ กำไรสลับกับขาดทุน ถ้าในวงการการพนันจะเรียกว่ามือขึ้น ก็จะลงทุนมากขึ้น ช่วงนี้มือขึ้นต้องรีบฉวยโอกาส(ขาดทุนเพิ่มขึ้นได้)
การเลือกทำ fix capital มักจะเป็นลักษณะแบบอนุรักษ์นิยม conservative ที่ port โตอย่างเชื่องช้า มั่นคงเป็นนักลงทุนที่เหมือนจะทำอะไรที่ช้าแต่ชัวร์ ซึ่งก็ต้องสัมพันธ์กับจิตวิทยานักลงทุน style การ trade เช่นเดียวกัน

การทำ money management คือการควบคุมความเสี่ยงนี้ต้องออกแบบไปพร้อมกับ operation การเข้าออก position โดย operation จะเหมือนการโจมตี ส่วน money management จะเป็นส่วนป้องกัน เมื่อมีโอกาสที่จะสร้างกำไรส่วนโจมตีควรดึงกำไรมาให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ถ้าเกิดขาดทุนเกิดความผิดพลาด ส่วนป้องกันควรป้องกันจำนวน position เดิมให้อยู่คงทน มี capital เพียงพอในการ trade ครั้งถัดไปได้ต่อเนื่อง ไม่ควรสูญเสีย position ใดไป แม้จะกำไรเติบโตน้อย แต่ไม่ควรเติบโตถอยหลังหรือ position ลดลง
การโจมตีและป้องกันต้องออกแบบด้วยกลยุทธที่มาจากจิตวิทยาที่ดีจึงจะทำงานสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกันได้อย่างเหมาะสม

Strength Weakness Analysis

การตรวจสอบจุดแข็งจุดอ่อนของระบบ เป็นการประเมินความสามารถประสิทธิภาพ ของส่วนประกอบระบบ อาจทำตั้งแต่การทดสอบทางตรง ทางอ้อมในแต่ละส่วนประกอบว่าเมื่อเกิดเหตุการณ์ดี ระบบจะทำได้ดีเพียงใด เมื่อเหตุการณ์ไม่เอื้ออำนวยระบบป้องกันตัวเองได้ดีเพียงใด
การทดสอบทางตรงจะสามารถทดสอบด้วยเครื่องมือที่มีความสามารถ testable tool ดังบทความ trading tool ทดสอบการทำงานย้อนหลัง backtest ด้วยข้อมูลที่มากเพียงพอ มีขาขึ้น ขาลง sideway , sideway นิ่งๆ sideway แบบรุนแรง ก็จะได้ผลลัพธ์ของการทำงานในส่วนประกอบทั้งหมดออกมา การทดสอบแบบเปรียบเทียบที่ควบคุมตัวแปรบางส่วน ก็จะสามารถระบุได้ว่าผลลัพธ์ที่ปรากฏนั้นมาจากส่วนประกอบใดๆ แบบเจาะลึก

แต่ก็มีบางส่วนประกอบที่ไม่สามารถทดสอบได้โดยตรง อาจเป็นแนวคิด เช่น เล่นตาม trend หรือ สวน trend จะดีกว่ากันดังบทความ trading style เล่นสั้นหรือเล่นยาว จะให้ผลลัพธ์ที่ดีมากกว่า ดังบทความ investor type 
แนวคิดเหล่านี้จะมีปรัชญาอยู่เบื้องหลังที่แปลงเป็นกลยุทธ การระบุจุดอ่อนจุดแข็งจะต้องย้อนไปดูที่หลักคิด ปรัชญาที่เป็นที่มาของแนวคิดนั้น ก็จะพอแยกได้ด้วยเหตุผลว่าจุดอ่อนจุดแข็งคืออะไร
เมื่อระบุได้แล้ว ก็จะสามารถนำมาตรวจสอบแต่ละองค์ประกอบย่อยว่ามีจุดอ่อนจุดแข็งหรือแนวคิดที่ตรงกับปรัชญาดั้งเดิมหรือไม่

เมื่อพบว่าองค์ประกอบมีข้อขัดแย้งและเป็นอันตรายต่อระบบโดยรวมก็อาจกำจัดและหาสิ่งที่มาทดแทนองค์ประกอบนั้นใหม่ หรืออาจเสริมองค์ประกอบนั้นให้มีจุดแข็งเพิ่ม จุดอ่อนลดลงเพื่อให้คงความได้เปรียบของจุดแข็งของแนวคิดนั้น และมีจุดอ่อนที่เล็กน้อยที่สุดเท่าที่เป็นไปได้
การมีองค์ประกอบที่ขัดแย้งกับหลักคิดแล้วใช้งานไปนานๆ องค์ประกอบนั้นจะสร้างผลร้ายต่อเนื่องให้กับประสิทธิภาพของระบบและจิตวิทยาของนักลงทุนเอง อาจทำให้สร้างความลังเล ไม่สม่ำเสมอ ละทิ้งความต่อเนื่องในการใช้ระบบ ซึ่งถ้าใช้ระบบแบบต่อเนื่องผลลัพธ์ที่ผิดพลาดไม่กี่ครั้งจะถูก กลบด้วยความถูกต้องจากการใช้ต่อเนื่อง แต่ถ้าละทิ้งกลางทางขาดทุนเพียงไม่กี่ครั้ง แล้วหยุดไปใช้ ระบบอื่นที่ไม่แน่นอน การขาดทุนก็อาจเพิ่มมากขึ้นต่อเนื่องแทน

ลักษณะความลังเล ไม่เชื่อมั่นในระบบที่ทดสอบมาอย่างดี ออกแบบมาอย่างดีจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับจิตวิทยานักลงทุนมากกว่าประสิทธิภาพของระบบ ซึ่งอาจจะมีสาเหตุมาจากบุคลิกของนักลงทุนเองหรือมาจากส่วนประกอบที่ขัดแย้งกันในระบบได้ การตรวจสอบจุดแข็งจุดอ่อนเหล่านี้นอกจากจะช่วยสร้างความทนทาน ประสิทธิภาพที่ดีให้กับระบบ แลัวยังเพิ่มความมั่นใจ ความสบายใจต่อผู้ใช้งานได้ 

ถ้าผู้ใช้งานระบบต่อเนื่องยาวนาน ระบบที่สม่ำเสมอส่วนมากจะให้ผลตอบแทนที่เป็นบวก ถ้าออกแบบด้วยหลักการที่ดี ไม่ต้องดีมากแค่ดีธรรมดา ก็จะได้ผลตอบแทนที่ดีได้
แต่ถ้าผู้ใช้งานระบบแบบไม่ต่อเนื่อง ระบบดีเพียงใดก็ไม่ได้ผลตอบแทนที่ดีได้ ให้กำไรบางครั้ง ส่วนมากก็ขาดทุนเพราะไม่ทำตามระบบ 

สรุป

การสร้างระบบการ trade tfex ถ้ามองจากมุมมองของการวิเคราะห์ทางเทคนิค อาจจะเป็นแค่การอ่านกราฟ หากฏ หาทฤษฎีที่มีสอนในตำรา มีสอนในสัมมนาแล้วทำตามเทคนิคเหล่านั้นให้ได้ตรงตามทีสอน เหมือนการสอบ admission ที่มีคำถามแล้วหาคำตอบซึ่งเป็นลักษณะการศึกษาไทยที่สอนกันตั้งแต่ อนุบาลจนถึง ป.ตรี(ป.โทบางที ส่วน ดบ. จะเป็นอีกแบบ) แต่ในการใช้งานระบบจริงที่สอดคล้องไปกับสิ่งที่เกิดขึ้นจริงนั้น มีองค์ประกอบที่ทำงานไปพร้อมๆกันมากกว่าแค่การวิเคราะห์ทางเทคนิค

จากหัวข้อที่กล่าวมา การวิเคราะห์ทางเทคนิคเป็นแค่ trend ,signal จากองค์ประกอบอื่นๆอีกหลายส่วน ซึ่งแต่ละส่วนถ้าไม่ตั้งใจออกแบบระบบก็ยังสามารถทำงานได้ แต่จะทำงานได้ดีหรือไม่ ก็ลองนึกถึงการขับรถไปบน motorway ช่วงเวลาหัวค่ำ มืดแล้วแต่รถมาก ที่เรามี ไฟหน้าขวาสว่างอยู่ ไม่มีไฟท้าย ไม่มีกระจกหลัง กระจกมองข้าง ไม่มีแตร ไม่มีไฟท้าย รถก็ยังวิ่งไปได้ แต่ถ้าเกิดสิ่งที่ไม่คาดคิดเพราะเราไม่เคยรู้มาก่อนว่าต้องมีสิ่งเหล่านี้ การโจมตีแต่ละครั้งที่ไม่มีระบบป้องกัน ก็เป็นเป้านิ่งที่รถคันอื่นจะชนเราได้ทุกเมื่อ ไม่มีไฟท้าย ถ้ามีเศษวัสดุทางเลนซ้ายไฟที่สว่างเฉพาะทางขวาแต่เลือนลางทางซ้ายก็ทำให้ง่ายที่จะชน และซ้ำร้ายรถไม่มีเข็มขัดนิรภัย ถุงลมนิรภัย ถ้าชนขึ้นมาจริงๆ โอกาสที่จะรอดมีน้อยมากบน motorway ที่รถส่วนมากใช้ความเร็วสูง จะชนเกาะกลางทางแยกเมื่อไหร่ก็ได้

การคิดโดยไม่เรียนตามทฤษฎี ก็จะสร้างความเสียหายจากความไม่รู้จริงได้ ซึ่งจะมีลักษณะที่สังเกตได้ง่ายถ้าทำการทดสอบด้วยวิธีสม่ำเสมอ จะพบว่าสิ่งที่เราคิดนั้นใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากน้อยเพียงใด การคิด กับความเป็นจริงอาจไม่ได้เป็นสิ่งเดียวกัน นักวิเคราะห์ส่วนมากที่มีมั่นใจในตนเองบอกว่าเกิดจากประสบการณ์อาจมีลักษณะเช่นนี้ คือห้ามวิจารณ์เมื่อทายผิด แนวคิดที่มาวิเคราะห์อาจเป็นสิ่งที่คิดขึ้นมาเอง มีบางสิ่งที่จริงแต่ก็เป็นส่วนน้อยของแนวคิดนั้น

การเรียนโดยไม่คิด ก็ยิ่งสร้างความเสียหายได้มากจากความเข้าใจผิด เช่นคิดว่าการวิเคราะห์ทางเทคนิคมีความแม่นยำสูง ทฤษฎี pattern กล่าวเช่นนี้ก็ต้องทำไปตามนี้ แนวต้านอยู่ที่นี่ก็ต้องเป็นไปตามนั้น การคิดว่าเรารู้ ในสิ่งที่เราไม่รู้จะสร้างความเสียหายได้อย่างมหาศาลเพราะความเชื่อจะเป็นสิ่งที่แก้ไขได้ยากมากที่สุดในกระบวนการความคิด แม้ตาจะเห็นแต่ความคิดอาจบอกว่าไม่จริงก็เกิดขึ้นเสมอในจิตวิทยาการลงทุน 
การทดสอบสิ่งที่ตำราหรือสัมมนาสอนจะเปิดเผยความจริงได้อย่างไม่ยาก นักวิเคราะห์ส่วนมากจะอ้างอิงทฤษฎีเดียวกัน ซึ่งยากที่จะเกิดขึ้น ถ้าเกิดขึ้นจริงคงไม่มีการเคลื่อนไหวของราคา ความคิดเห็นที่ไม่ตรงกันไม่ตรงกับทฤษฎีสร้างการคลื่นไหวของราคาได้เสมอ หรือทฤษฎีล้าสมัย ไม่เคยเกิดขึ้นจริงจังหลังจากเผยแพร่ แต่ก็ไม่มีใครไปพิสูจน์ หรือใช้ได้ดีในบางสภาวะตลาด แต่สภาวะตลาดเปลี่ยนไปก็ยึดแต่ทฤษฎีเดิมๆไม่ได้มีการตรวจสอบสม่ำเสมอ การเพ่งเล็งแต่ความถูกต้องของทฤษฎีจะบดบังความเป็นจริงที่มีหลายครั้งที่ไม่เกิดขึ้น และความผิดพลาดของทฤษฎีอาจมีมากกว่าแต่ก็ไม่เป็นที่สนใจ รอคอยแต่ความถูกต้อง ลักษณะเช่นนี้ก็เกี่ยวข้องกับจิตวิทยาที่ปฏิเสธความผิดพลาด ไม่ยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นจริงหรือไม่มองภาพรวมว่าเกิดสิ่งใดบ้าง

การสร้างองค์ประกอบแบบตั้งใจออกแบบให้ดีตั้งแต่แรกเริ่มมักจะให้ผลลัพธ์ออกมาที่น่าพอใจ สอดคล้องกับความเป็นจริง ใช้งานได้ดี ทนทาน สร้างผลตอบแทนที่น่าพอใจเพียงพอต่อการทุ่มเทสร้างขึ้นมาได้ แนวคิดว่าระบบใดๆจะมีจุดอ่อน มีความไม่แม่นยำเสมอจะช่วยให้เราสร้างระบบที่สอดคล้องกับความเป็นจริงได้ดีกว่าแนวคิดว่ามีความแม่นยำสูงในบางวิธีที่เรายังไม่ค้นพบ ระบบที่ทำงานได้แม้จะไม่แม่นยำจะสร้างได้ง่ายและทนทานมากกว่าระบบแม่นยำสูงที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงทางธรรมชาติที่ไม่มีอะไรแน่นอน

To expect the unexpected shows a thoroughly modern intellect.
Oscar Wilde



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น