วันเสาร์ที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

Investor Type: ชนิดนักลงทุน เล่นสั้นหรือจะลงทุนดี

นักลงทุนในตลาดการเงิน การลงทุนจะมีแนวคิดปรัชญาในการลงทุนที่หลากหลาย มีวิธีการลงทุนที่แตกต่างกันหลายแบบซึ่งการที่ความคิดเห็นไม่ตรงกันเหล่านี้ก็จะสร้าง transaction ให้เกิดขึ้นในตลาดได้อยู่เสมอ ชนิดของนักลงทุนที่ต่างกันจะมีลักษณะที่แตกต่างกันทั้งเครื่องมือที่ใช้ time frame ที่พิจารณาที่แตกต่างกัน บทความนำเสนอลักษณะของนักลงทุนที่ต่างกัน

นักลงทุนเมื่อต้องการลงทุนใน หุ้น tfex หรือ forex ก็จะมีการเรียนการศึกษาตามแต่ที่จะหาได้ตามความสะดวกหรือตามความสนใจหรือตามลักษณะที่ถูกกับนิสัยของนักลงทุนเอง แนวคิดจากการเรียนการศึกษาเหล่านั้นก็จะสร้างชนิดนักลงทุนออกมาที่แตกต่างกันในการลงทุน โดยแต่ละแนวคิดจะมีหลักคิดหลักใหญ่ที่เป็นเหมือนทิศทางในการค้นหาสิ่งที่ต้องการ ที่จะสร้างวิธีการ การกระทำ เครื่องมือต่างชนิดกัน

ชนิดนักลงทุนสามารถแบ่งออกเป็น 3 ชนิด Day trader, Position trader , Investor ตามมุมมองของหลักคิดที่ต่างกัน

Day trader

นักลงทุนกลุ่ม day trade จะเป็นกลุ่มนักลงทุนที่นิยมการเก็งกำไร คือซื้อที่ราคาถูกหรือแพงก็ได้ แต่ต้องการขายที่ราคาแพงกว่า ในระยะเวลาอันสั้น เป็นการเสี่ยงซื้อเข้าไปในราคาที่คาดเดา ไม่ว่าจะเป็นการคาดเดาด้วยเทคนิคแนวรับ แนวต้าน, จุด pivot ที่เป็นจุด peak ของชุดที่ผ่านมา จุด pivot จะเลือกจุดที่มีระดับราคากระจุกตัวอยู่มากที่สุดที่ผ่านมา, หรือ Fibonacci level
ปรัชญาแนวคิดของกลุ่มนี้มักจะเป็นการเล่นแบบ counter trend ชาวสวน ดังที่ปรากฏในบทความ Trading Style พยายามที่จะซื้อที่จุดกลับตัว ซื้อถูกที่สุดให้ได้ หรือขายให้แพงที่สุดให้ได้ หลักคิดแบบนี้มักจะต้องพึ่งวิธีการจับ pattern การเคลื่อนไหวของราคา ว่า pattern แบบนี้จะทำอย่างไร โดยสามารถระบุแผนการไว้ล่วงหน้า 1 วันหรือ สร้างแผนขึ้นมาภายในระหว่างวันนั้นได้
pattern ดังกล่าวจะเป็นลักษณะเฉพาะที่นักลงทุนนั้นๆ สังเกตมาจากประสบการณ์ว่าถ้าเป็นลักษณะแบบนี้จะเลือกแผนการ จุดเข้าออกที่ระดับราคาไหน
การทำแบบนี้ต้องอาศัยประสบการณ์สั่งสมมาก และนักลงทุนที่ประสบความสำเร็จอย่างแท้จริงจะมีจำนวนน้อยมากๆ
กลุ่มผู้นิยมใช้ day trade จะมีจำนวนมาก เนื่องจากความง่ายในการสร้างและทำความเข้าใจ ใครๆก็จะสร้างระบบแบบนี้ได้ และเป็นที่นิยมของนักวิเคราะห์อย่างมาก เพราะความง่ายที่แค่ให้ชุดตัวเลขมา ผลลัพธ์ของวิธีนี้จะได้ออกมาเป็นแนวรับแนวต้าน แม้จะได้ผลลัพธ์ที่ได้จะออกมาคล้ายๆกันในแต่ละแผนการแต่การกระทำ อาจไม่ต่อเนื่อง ยังต้องใช้การคาดเดาต่อเนื่องของ นักลงทุนเลือกที่จะทำตาม หรือไม่ทำตามแผนดังกล่าว

นักลงทุนที่บางครั้งก็ทำตามแผนที่สร้างไว้ หรือบางครั้งก็ไม่ทำตามแผน นักลงทุนอาจอ้างว่ามาจากประสบการณ์แต่ในความเป็นจริง ถ้าแผนที่วางไว้ไม่ทำตาม เช่น เมื่อถึงแนวรับแล้วไม่เข้าซื้อแต่ปล่อยให้ผ่านไป เพราะเดาว่าลักษณะนี้ไม่น่าใช่แนวรับ ก็จะละเลยการซื้อไป การละเลยนี้อาจเป็นทั้งคุณและโทษได้ ถ้าคาดการณ์ถูก ราคายังลดลงต่อเนื่องก็ได้ประโยชน์ไป แต่ถ้าเดาผิด ก็จะพลาดการ trade ไปได้ซึ่ง trade ครั้งนั้นอาจเป็นครั้งสำคัญซึ่งไม่มีทางใดที่จะรู้ว่า trade แต่ละครั้งกำไรจะขนาดใหญ่แค่ไหน
การคาดเดาจะทำได้แค่ว่า pattern อะไร แต่ไม่รู้ถึงขนาดกำไรที่จะเกิดขึ้น
การมีแผนแล้วไม่ทำตามแผน บางทีก็อาจคิดได้ว่าไม่มีแผนก็ได้ ไม่ต่างกันเพราะมีแผนไว้ก็ไม่ทำตาม ซึ่งจะอาจเป็นหายนะที่การพลาดตามแผนเพียงครั้งเดียวก็อาจทำลาย port ที่สร้างมาหลายเดือนได้

และลักษณะที่สำคัญอีกแบบคือ day trade มักจะไม่ถือสัญญาหรือหุ้นข้ามวันเพราะถือว่าการเปิดตลาดในวันใหม่อาจมีการกระชากราคาขึ้นหรือลงซึ่งจะสร้างความเสี่ยงในการเดาได้อย่างมาก day trader จะนอนหลับได้อย่างสนิทเพราะไม่ต้องกังวลอะไรเลยในวันถัดไป ไม่ต้องกังวล QE การเมืองไม่สงบ น้ำมันขึ้นลงแต่อย่างใด ตื่นเช้ามาก็ทำตามตัวเลขที่คิดไว้
กำไรของ day trade มักจะมาจากส่วนต่างระหว่างวัน ซึ่งมีขนาดเล็กมาก ถ้าควบคุมการขาดทุนให้มีขนาดเล็กกว่าขนาดกำไร  day trade ก็จะประสบความสำเร็จได้นั่นเอง การเน้นหนักในการการทำกำไรมากไปแต่ไม่ควบการขาดทุน กำไรที่ได้มาทั้งเดือนก็อาจถูกการขาดทุนแค่ครั้งเดียวทำลายให้หมดไปได้

ลักษณะที่เหมือนจะเป็น day trade แต่ถือสัญญาข้ามวัน จะไม่ใช่ day trade อย่างแท้จริงเพราะเสี่ยงที่จะถือข้ามวัน แม้ว่าจะใช้แนวรับแนวต้านคล้ายกัน แต่เป็นแนวรับแนวต้านที่กว้างกว่า การถือข้ามวันมักจะเป็นการสร้างระบบแบบ position

Position trader

เป็นลักษณะการเล่นรอบ โดยมีปรัชญาว่าการเคลื่อนไหวของราคาจะมีลักษณะเป็นรอบ ขึ้นยาวนานได้หลายวันจนกว่าจะเกิดการกลับตัว ก็จะถือไปจนสิ้นสุดทิศทางนั้น
การสร้างระบบแบบ position จะมีความยากกว่า day trade มากเพราะต้องอาศัยการสังเกตจากธรรมชาติของราคาว่ามีการเคลื่อนไหวของราคาแล้วนำมาสร้าง model จากนั้นนำไปสร้างระบบโดยอาจสร้างมาจาก indicator ที่มีการทดสอบ backtest ด้วยเครื่องมือที่สามารถทดสอบแนวคิดได้อย่าง testable tool ในบทความ system trading tool และจากนั้นก็นำไปทดสอบด้วยการใช้งานจริงว่าตรงตามที่ออกแบบ มีผลลัพธ์ที่น่าพอใจ หรือต้องปรับแก้อย่างไร กระบวนการแก้ไข ออกแบบ ทดสอบ ทดลองใช้จริงอาจเป็นกระบวนการที่ทำหลายสิบครั้งใช้เวลานานหลายปี กว่าจะได้ระบบที่น่าพอใจตามหลักการออกแบบที่ต้องการ
ต่างจาก day trade ที่ไม่จำเป็นต้อง test ย้อนหลังอย่างไร เพราะเน้นที่ประสบการณ์การตัดสินของนักลงทุน day trade เป็นเรื่องที่บอกเล่าได้แต่จะทดสอบย้อนหลังได้ยาก เพราะจะมีการตัดสินใจที่ไม่เหมือนกันทุกครั้ง

คลิ๊กที่ภาพเพื่อดูรายละเอียด


สำหรับ ระบบ position ที่ไม่มีการ test ย้อนหลังหรือ backtest จะเป็นอย่างไร ผลลัพธ์ของการลงทุนในการใช้จะกลายเป็นสิ่งที่คาดเดาไม่ได้ ให้ผลลัพธ์ที่ไม่แน่นอน เมื่อเกิด drawdown หรือการขาดทุนต่อเนื่องที่ยาวนาน ผู้ใช้เองมักจะท้อแท้ สงสัยในระบบที่สร้างขึ้นมาและอาจยกเลิก ค้นหาระบบใหม่ ออกแบบระบบใหม่ แต่ผลลัพธ์ก็อาจจบลงแบบเดิมเพราะไม่ได้มีการทดสอบจนมั่นใจ ผลลัพธ์นั้นคือนักลงทุนต้องหยุดลงทุนออกจากเกมส์ไป
การถูกต้องของระบบ หรือได้กำไรแค่ 5-10 ครั้งไม่ได้เป็นตัวแทนของประสิทธิภาพของระบบ เราอาจพบบ่อยครั้งที่ผู้ใช้ระบบ จะดีใจกับกำไรที่ได้มา post กำไร post หน้าจอ port ที่ได้กำไรอย่างน่ายินดี ขอบคุณผู้ที่ให้จังหวะซื้อขาย ขอบคุณ broker ที่แนะนำ ขอบคุณระบบ ลักษณะเหมือนการเล่นการพนันที่ต้องใช้การเดาที่นานๆครั้งจะได้กำไรที การลงทุนโดยปกติจะไม่ถูกต้องแค่ 1 ครั้งนานๆที แต่จำเป็นต้องมีความสม่ำเสมอพอสมควร ไม่เช่นนั้นทุนที่ลงไปอาจหมดตัวได้ก่อน ถ้านานๆครั้งได้กำไรที

แม้จะ post กำไรต่อเนื่อง post ทุกครั้งที่กำไร ก็อาจเป็น white lie คือบอกความจริงไม่หมด เมื่อเกิดการขาดทุน การลงทุนที่ไม่ขาดทุนจะเป็นเรื่องที่ยากจะเป็นความจริง และขนาดขาดทุนก็มักมีขนาดเฉลี่ยพอๆกับกำไร ไม่ต่างกันมากนัก ถ้ามีการจดบันทึกอย่างจริงจัง แทนที่จะ post หน้าจอที่กำไรที่ไม่ได้บอกอะไรเกี่ยวกับระบบอย่างแท้จริง

และก็ไม่เคยเห็นว่าจะ post เมื่อเกิดการขาดทุน ซึ่งอาจต่อเนื่องยาวนาน แม้จะควบคุมได้ แต่จะมีบางสภาวะที่ตลาดไม่เป็นไปตาม model ที่ตั้งข้อสังเกตไว้ ก็อาจจะขาดทุนต่อเนื่องยาวนาน กลับละเลยไม่เพ่งความสนใจในการขาดทุนต่อเนื่องเหล่านั้น อาจเป็นเรื่องจิตวิทยาที่ผู้คนมักจะตั้งใจจดจำแต่สิ่งที่ดี แต่เพิกเฉยหรือ แกล้งลืม เมื่อขาดทุน
ระบบแบบ position จะมีความแม่นยำไม่มากนัก โดยทั่วๆไปจะมีความแม่นยำประมาณ 50% ถ้าเห็นว่ากำไรก็จะมีจำนวนที่ขาดทุนใกล้เคียงกัน เป็นธรรมชาติของตลาดที่จะมีสภาวะเหมาะสมกับ บาง model แค่นี้ ส่วนโอกาสอีก 50% จะเป็นลักษณะที่ไม่สอดคล้องกับที่คาดหวังไว้ 

ข้อดีของระบบ position ที่นักลงทุนแบบ position trader ใช้คือมีความทนทานใช้ได้ในระยะเวลายาวนาน การใช้ระบบจะเป็นเหมือนการทำธุรกิจชนิดนึง คือถ้าใช้ไปถึงระยะเวลาวัฎจักรการลงทุนหมุนครบรอบก็จะได้ผลตอบแทนที่ดีออกมาเหมือนการทำธุรกิจที่ให้ผลตอบแทน แต่เนื่องจากระบบจะมีความไม่แม่นยำนัก บางช่วงของการใช้งานจะเกิด drawdown การขาดทุนต่อเนื่องที่อาจสร้างความเสียหายอย่างมากให้ port ถ้าออกแบบมาไม่ทนทาน robust เพียงพอ การขาดทุนต่อเนื่องนี้อาจทำลาย port ให้มีความสามารถลดลง มีอำนาจซื้อลดลงได้ การคิดแต่เรื่องกำไรแต่ไม่ออกแบบการควบคุมการขาดทุนจะสร้างจุดอ่อนที่อาจทำลาย port ทั้งหมดได้ในการผิดพลาดเพียงไม่กี่ครั้ง ถ้าใช้ในการลงทุนที่มี leverage สูง เช่น tfex หรือ dw
การผิดพลาดขนาดใหญ่ไม่กี่ครั้งนี้มักจะเกิดขึ้นเป็นประจำทุกๆปีอยู่แล้วหลีกเลี่ยงได้ยาก
แต่ถ้าออกแบบเผื่อการโจมตีดังกล่าวได้ ก็ไม่มีอะไรที่ต้องกังวลนัก การ trade ของ position trader ก็จะเป็นเหมือนการเปิดร้านขายสินค้าตามปกติ เพราะได้ออกแบบเผื่อจุดอ่อนที่อาจเกิดขึ้นไว้แล้ว ไม่ว่าจะเลวร้ายแค่ไหนก็เปิดร้านขายสินค้าได้ตามปกติ ลงทุนได้อย่างไม่ต้องกังวลอะไร

Investor

เป็นแนวคิดดั้งเดิมแรกเริ่มของการลงทุน เมื่อมีการทำธุรกิจใดๆก็มักจะต้องการผู้ร่วมลงทุน และให้เจ้าของกิจการหรือคณะบริหารกิจการนั้น ดำเนินการทำธุรกิจเหล่านั้นตามแผนงานที่วางไว้ ธุรกิจใดๆก็ตามคงไม่ดำเนินธุรกิจแค่ 1 เดือน แต่จะดำเนินธุรกิจแบบยาวนานหลาย 10 ปี แต่ผลงานที่เห็นได้เร็วที่สุดจะเป็นระยะใน 1 ปี โดยอาจมีการรายงานผลการดำเนินงาน 3 เดือนหรือทุกเดือนในบางธุรกิจเป็นสิ่งบอกความคืบหน้าของกิจการ เมื่อครบปีก็จะนำผลตอบแทนแบ่งคืนมาให้นักลงทุน และอาจเก็บไว้บางส่วนเพื่อการลงทุนขยายกิจการต่อเนื่อง ในบางธุรกิจอาจต้องลงทุน 3 ปีเพื่อให้ได้ผลตอบแทนคืนมาในปีที่ 3 ก็อาจพบเห็นได้บ่อยครั้ง

การลงทุน 3-6 เดือนมักจะเป็นคำที่ไม่เหมาะสมในโลกของความเป็นจริงนัก เพราะไม่มีธุรกิจใหญ่ที่ใดที่ลงทุนแล้วได้ผลตอบแทนภายในวัฎจักรเวลาที่สั้นแค่นั้นได้
การสร้างระบบการลงทุน แบบ long term investment นี้ อาจไม่สามารถใช้กราฟราคาเทคนิคได้ แต่อาจใช้รายงานการดำเนินธุรกิจ รายงานประจำปี ผู้บริหารพบนักลงทุน opportunity day เพื่อบอกเล่าความเป็นไปของธุรกิจ นักลงทุนก็จะประเมินจากรายงานเหล่านี้
การสร้างระบบแบบนี้จะเหมือนการดำเนินธุรกิจจริง ที่นอกจากจะดูที่ความสามารถของบริษัทแล้วยังต้องดูที่วัฏจักรเศรษฐกิจ Economic cycle ว่ากลุ่มอุตสาหกรรมแบบไหนจะมีเป็นที่นิยม
ผู้สร้างต้องมีความรู้ความสามารถเกี่ยวกับการอ่านทิศทางระบบเศรษฐกิจทั้งมหภาค และจุลภาค ความสามารถของบริษัท ทำไมแค่อ่านความสามารถบริษัทเพียงอย่างเดียวจะเพียงพอหรือไม่ บริษัทที่ดีมีความสามารถแต่อยู่ในอุตสาหกรรมที่ไม่ได้ประโยชน์จากความต้องการเศรษฐกิจ หรือเศรษฐกิจสำหรับอุตสาหกรรมนั้นมีการปรับตัวลดลง ยอดขายรายได้ก็จะเติบโตน้อย ส่งผลให้กำไรและราคาสร้างผลตอบแทนที่ไม่น่าพอใจได้ไม่ว่าบริษัทจะดีแค่ไหนก็ตาม

ระบบสำหรับ investment จะเกี่ยวข้องกับการดึงข้อมูลเศรษฐกิจมหภาค ข้อมูลทางการเงินของบริษัท ทิศทางของอุตสาหกรรมที่อาจหาได้จากตัวเลขทางการต่างๆ นำมาคัดเลือกชนิด สินทรัพย์ที่น่าสนใจในการลงทุน
นักลงทุนรายย่อยส่วนมากจะมีทักษะในการรวบรวมข้อมูลดังกล่าวได้ยาก ขาดแหล่งข้อมูลที่เพียงพอ ขาดเครืองมือที่รวบรวมข้อมูลดังกล่าว แต่ก็อาจใช้บทวิเคราะห์ของ broker ที่จัดทำให้ไว้ได้
แต่ก็มีบางครั้งที่นักลงทุนรายย่อยปฏิเสธที่จะใช้ข้อมูลจาก broker ด้วยเหตุผลความเชื่อว่า broker เชียร์หุ้นที่ดีไม่จริง เชียร์หุ้นที่รายใหญ่ต้องการปล่อยของซึ่งก็พิสูจน์เรื่องนี้ได้ยากมาก
หรือนักลงทุนรายย่อยปฏิเสธที่จะใช้ข้อมูลเนื่องมาจากความเชื่อที่ว่า นักลงทุนไม่มีความสามารถเข้าใจข้อมูล ข้อเท็จจริงเหล่านั้น ต้องการทำความเข้าใจเฉพาะสิ่งที่ตนเองสนใจ ในกรณีนี้เป็นการละเลยข้อมูลด้วยข้อจำกัดของนักลงทุนเอง ซึ่งเป็นเรื่องอันตรายถ้าข้อมูลที่นักลงทุนไม่ชำนาญหรือปฏิเสธที่จะรับรู้กลับเป็นข้อมูลที่มีความสำคัญที่สร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับเศรษฐกิจหรือความสามารถของบริษัท
การลงทุนแบบไม่รู้รายละเอียดการลงทุนก็เหมือนปิดตาขับรถที่ยากจะพ้นสี่แยกปากซอยหน้าบ้าน เป็นเรื่องอันตรายอย่างยิ่งที่ต้องเดา ทายชื่อหุ้น ทายราคาตามข่าว แบบไม่มีข้อมูล ข้อเท็จจริง

การใช้บทวิเคราะห์จาก broker บางทีก็ไม่น่าเชื่อถือถ้าข้อมูลที่นำเสนอเป็นการคาดเดาที่ขาดข้อเท็จจริงสนับสนุน นักลงทุนควรจะมีทักษะในการแยกแยะส่วนใดคือข้อเท็จจริง ส่วนใดคือการคาดเดา ส่วนใดเป็นแค่ความคิดเห็น ไม่ควรเชื่อในสิ่งที่ broker นักวิเคราะห์นำเสนอทั้งหมด
ความยากของการสร้างระบบการลงทุนนี้ขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ของข้อมูล ไม่ได้อยู่ที่การคาดเดาที่แม่นยำ ความครบถ้วนของข้อมูลจะให้ข้อเท็จจริงที่ตรงกับความเป็นจริง มีทิศทางที่เกิดขึ้นจริงๆ ซึ่งการรวบรวมข้อมูลเหล่านี้ต้องใช้ความรู้ของนักเศรษฐศาสตร์ ความรู้ของผู้บริหารกิจการ ความรู้ของวิศวกรในกรณีที่บริษัททำธุรกิจที่ซับซ้อนอาศัยเทคโนโลยี ความรู้ของนักการตลาดว่าตลาดต้องการอะไร ซึ่งนักลงทุนทั่วๆไปจะไม่มีความรู้แบบนี้อย่างลึกซึ้ง และไม่รู้แหล่งที่มาของข้อมูลข้อเท็จจริง
แต่ถ้าสร้างระบบแบบนี้ขึ้นมาได้ การเฝ้าดูข้อมูลของระบบจะเหมือนการบริหารกิจการอย่างแท้จริง

สรุป

นักลงทุนทั้ง 3 ชนิด แบบ Investment จะได้กำไรสูงสุดถ้าเป็นไปตามที่วิเคราะห์ไว้ Position จะได้กำไรรองลงมาเพราะมีการเข้าออกบ่อยครั้งกว่า Day trade จะได้กำไรน้อยที่สุด แม้จะมีจำนวน transaction กำไรเก็บเล็กผสมน้อย แต่ความแม่นยำที่ไม่มากจะสร้าง transaction ที่ขาดทุนจำนวนมากเช่นกันซึ่งจะกัดกินกำไรโดยรวมให้ลดต่ำลงกว่าแบบที่มี transaction น้อยกว่า การซื้อแพง ขายถูก แค่ 10-20 ครั้งก็สร้างความแตกต่างให้กับผลตอบแทนอย่างมากได้
Day trade จะมีความเสี่ยงที่ต่ำกว่าซึ่งก็เหมาะสมกับกำไรที่ได้รับ Investment จะความเสี่ยงสูงถ้าเกิดความผิดพลาด ซึ่งแน่นอนผลตอบแทนที่ได้จะมีขนาดใหญ่มากถ้าถูกต้อง
การเลือกเป็นนักลงทุนชนิดใด นอกจากความรู้ ความพร้อมของเครื่องมือ ก็ยังต้องพิจารณาถึงลักษณะนิสัยการลงทุนที่ชื่นชอบการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วหรือการเปลี่ยนทิศที่ค่อยเป็นค่อยไป อาจพิจารณาไปถึงการ monitor ที่ต้องดูแลการลงทุนเหล่านี้เป็นปัจจัยเพิ่มเติม
ผลตอบแทนกับความเสี่ยงจะมีความสัมพันธ์ไปในทิศทางเดียวกัน โดยผลตอบแทนจะสวนทางกับจำนวน transaction ในระบบทั่วๆไป ซึ่งเป็นสิ่งที่นักลงทุนต้องเลือกให้ดีให้เหมาะกับเป้าหมายการลงทุน




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น